การปฏิเสธงานกับบริษัทที่เราได้รับการเข้าทำงานแล้ว อาจเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพบเจอในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตการทำงาน การตัดสินใจเกี่ยวกับการปฏิเสธข้อเสนองานไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อมีการได้รับข้อเสนอมาจากหลายบริษัทพร้อมกัน ซึ่งในบางครั้งโอกาสดีๆ ก็เข้ามาพร้อมกัน ซึ่งผู้สมัครงานก็ต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองและความพึงพอใจของเราในที่ทำงานใหม่ วันนี้ PartTimeTH มีวิธีปฏิเสธการร่วมงานกับบริษัทอื่นๆ ได้อย่างไรมาบอกทุกคน
คิดทบทวน
อันดับแรกเลยก่อนการปฏิเสธเข้าทำงานกับบริษัทใดๆ ก็ตาม ควรนั่งคิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง ถามใจตัวเองให้หนักๆ ถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละบริษัทที่หยิบยื่นข้อเสนอมา ว่าบริษัทไหนโดนใจคุณมากที่สุด โดยหลักที่ควรพิจารณาคร่าวๆ ได้แก่ ลักษณะงาน, วัฒนธรรมองค์กร, สวัสดิการ, สถานที่ตั้ง และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ก็ไม่ได้จะเกิดขึ้นเสมอไป ดังนั้นจึงไม่ควรที่กังวลจนเกินไปในการปฏิเสธเข้าร่วมงานกับบริษัทนั้นๆ แต่หลักสำคัญคือต้องคิดให้รอบคอบที่สุดเท่านั้นเอง เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม จะเป็นไปได้ยากแล้ว
คิดให้รอบคอบ
ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า เราควรคิดให้ถี่ถ้วนทุกครั้งก่อนที่จะตอบตกลงหรือปฏิเสธการเข้าทำงานกับบริษัทใดๆ ก็ตาม เพราะเมื่อตอบตกลงไปแล้ว การจะเปลี่ยนแปลงอะไรภายหลังนั้น บอกเลยว่าเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นเมื่อได้รับแจ้งจากฝ่ายบุคคลว่าเขารับเราเข้าทำงานแล้ว ยังไม่ควรตอบตกลงในทันที แต่ควรขอเวลาจากเขาสักประมาณ 1 วัน หรือหากบริษัทนั้นรีบจริงๆ ก็ควรขอเวลาตัดสินใจอย่างน้อยสักประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้เราใช้เวลานี้ในการพิจารณาถึงผลดีผลเสียต่างๆ ก่อนที่จะให้คำตอบกลับไป
อย่าใช้ความเงียบ
บางคนกลัวการเผชิญหน้า จึงอาจตัดสินใจผิดในการเลือกใช้ความเงียบเพื่อสยบการปฏิเสธการร่วมงานซึ่งขอบอกเลยว่าเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมมากๆ เพราะอย่างที่บอกไปว่าฝ่ายบุคคลแต่ละบริษัท ก็ต้องมีกระบวนการหลายอย่างในการรับสมัครคนเข้าบริษัท หากเราเงียบไม่ให้คำตอบเขา อาจจะทำให้เขารอ หรือเกิดผลเสียหรือความเสียหายหลายๆ อย่างตามมาได้
นอกจากนี้การหายตัวไปยังอาจทำให้คุณติดแบล็คลิสต์ในกลับมาร่วมงานกลับบริษัทนี้ในอนาคต หรือาจจะรวมไปถึงโอกาสในบริษัทอื่นๆ ด้วย เพราะอย่าลืมโลกสมัยนี้กลมมาก เรื่องราวของคอนเนคชันเป็นสิ่งที่สำคัญ เฉกเช่นเดียวกับวงการ HR ในบริษัทต่างๆ ก็แคบมากเช่นกัน พวกเขาอาจส่งต่อข้อมูลถึงกัน จึงอาจส่งผลให้การสมัครงานในอนาคตของคุณยากขึ้นเป็น 2 เท่า
ดังนั้นให้คิดว่าการปฏิเสธไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ไม่ควรใช้เงียบในการแก้ปัญหานี้อย่างเด็ดขาด!
ใช้คำพูดสุภาพและเป็นทางการ
ขึ้นชื่อว่าการปฏิเสธไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตาม เราควรใช้คำพูดที่สุภาพและเหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้ถูกปฏิเสธเสียความรู้สึก และยิ่งโดยเฉพาะเรื่องงาน จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้คำพูด ไม่ว่าจะเป็นการตอบปฏิเสธทางอีเมลหรือว่าทางโทรศัพท์ ก็ควรเลือกใช้คำที่ดูสุภาพ เป็นทางการ และดูเป็นมืออาชีพ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
โดยสรรพนามที่ใช้ควรเป็น ดิฉัน หรือ ผม ไม่ควรใช้คำว่า ฉัน เรา หรือหนู หากคุณเลือกตอบปฏิเสธการร่วมงานทางอีเมล ควรมีการใช้คำขึ้นต้นและลงท้ายตามหลักการเขียนจดหมายด้วย เช่น เรียนฝ่ายบุคคล และลงท้ายด้วยคำว่าขอแสดงความนับถือ เป็นต้น
ขอโทษและขอบคุณ
การปฏิเสธการร่วมงานไม่ใช่เรื่องผิด เพราะอย่างที่บอกว่าเรามีสิทธิ์เลือกสิ่งที่ใช่ที่สุดให้กับตัวเราได้เสมอ แต่จะทำอย่างไรล่ะให้ผู้ถูกปฏิเสธรู้สึกเสียความรู้สึกน้อยที่สุด อย่างแรกเลยคือการขอโทษ เราควรบอกกล่าวขอโทษฝ่ายบุคคลของบริษัทนั้นๆ อย่างจริงใจ ตามด้วยคำขอบคุณที่บริษัทนั้นๆ ได้หยิบยื่นโอกาสในด้านการงานมาให้ พร้อมถึงการเล็งเห็นถึงศักยภาพของเรา ในการเลือกเราเข้าไปทำงานด้วย เพราะถึงแม้พวกเขาจะรู้สึกไม่ดีกับคุณแค่ไหนก็ตาม อย่างน้อยการได้แสดงคำขอโทษและคำขอบคุณอย่างจริงใจ เราเชื่อว่าผู้ถูกปฏิเสธจะต้องเข้าใจคุณบ้างแหละ
ใช้เหตุผลที่เหมาะสม
เมื่อกล่าวขอโทษและขอบคุณไปแล้ว ก็ควรตามมาด้วยการบอกเหตุผล ว่าทำไมเราถึงต้องปฏิเสธข้อเสนอในการทำงานครั้งนี้ แม้เหตุผลที่ต้องใช้บางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป แต่ก็เพื่อเป็นการแสดงความเป็นมืออาชีพและทำให้ผู้ฟังไม่รู้สึกแย่จนเกินไป โดยตัวอย่างของเหตุผลที่สามารถนำไปใช้ได้
ตอบกลับด้วยวิธีเดียวกัน
ในแต่ละบริษัทมักจะมีการแจ้งผลการรับเข้าทำงานที่แตกต่างกัน โดยหลักๆ แล้วจะเป็นช่องทางอีเมลหรือไม่ก็ไม่โทรศัพท์ ซึ่งถ้าคุณได้รับการแจ้งผลผ่านช่องทางใด ก็ควรแจ้งกลับผ่านช่องทางนั้นเช่นเดียวกัน ไม่ควรใช้ตอบการกลับผ่านช่องทางแตกต่าง เช่น บริษัทนี้แจ้งผลคุณทางโทรศัพท์ แต่คุณกลับไม่กล้าเผชิญหน้าด้วยการพูดคุย แล้วเลือกปฏิเสธด้วยการส่งอีเมลแทน แบบนี้ก็ดูจะไม่สมควรนัก แถมยังเป็นการเสียมารยาทกลายๆ อีกด้วย
ระมัดระวังเรื่องสัญญาบริษัท
อีกหนึ่งข้อที่ต้องระวังในการปฏิเสธการร่วมงานก็คือ อย่าไปเผลอเซ็นสัญญากับบริษัทไหน ถ้ายังไม่มั่นใจว่าจะทำงานกับที่นั้นจริงๆ เพราะสัญญาจ้างงานจะมีผลบังคับทางกฎหมาย อาจทำให้เกิดการฟ้องร้องทางกฎหมายได้ แต่ถ้าหากต้องการยกเลิกสัญญาจริงๆ ควรศึกษารายละเอียดที่ระบุไว้ในสัญญาให้ชัดเจนก่อนกระทำการใดๆ
แต่ทางที่ดีควรตัดสินใจให้รอบคอบว่าจะทำงานกับที่ไหน ถ้าคิดว่าชัวร์แล้วที่จะทำงานกับบริษัทนี้แน่ๆ ก็ค่อยเซ็นสัญญา เพราะถ้าเซ็นสัญญาไปแล้ว บอกเลยว่าการปฏิเสธจะยากมากขึ้นอีกเท่าตัวเลยล่ะ
แนะนำผู้สมัครคนอื่น
เมื่อทำตามวิธีข้างต้นไปจนครบแล้ว อาจลองแนะนำผู้สมัครคนอื่นที่คุณคิดว่ามีทักษะและคุณสมบัติที่ตรงกับตำแหน่งงานนี้ให้กับฝ่ายบุคคลของบริษัทนั้นด้วยก็ได้ อย่างน้อยก็เป็นการช่วยในการหาผู้สมัครคนใหม่ๆ มาแทนตำแหน่งที่คุณปฏิเสธไป ถ้าฝ่ายบุคคลถูกใจ เขาก็จะได้ไม่ต้องไปนั่งควาญหาคนใหม่ด้วยตัวเอง แถมยังอาจไม่เสียความรู้สึกกับเรามากไปอีกด้วย
สรุปวิธีการปฏิเสธงานกับบริษัทที่รับเราเข้าทำงาน
การปฏิเสธเข้าทำงานไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกคนสามารถเลือกสิ่งที่ตรงใจตัวเองได้เสมอ อย่าไปกลัวว่าถ้าเราไม่รับข้อเสนอแล้วจะทำให้เราดูไม่ดี แต่การปฏิเสธต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมืออาชีพ มีการเลือกใช้คำและวิธีที่เหมาะสม แค่นี้ก็จะทำให้บริษัทนั้นๆ เข้าใจถึงสาเหตุของเราและเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายแน่นอน
ติดตามประกาศรับสมัครงานเพิ่มเติมได้ที่ Facebook หางาน Part Time งานพิเศษ ทำที่บ้าน เสาร์ อาทิตย์