เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา วันแรกของการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 พร้อมกันนี้ยังมีอีกเรื่องที่สำคัญ นั่นคือ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในช่วงปี พ.ศ. 2555
สำหรับการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เห็นควรพิจารณาปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว ซึ่งถือเป็นการปรับฐานขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ แรกบรรจุทุกคุณวุฒิ
ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ได้เสนอเรื่องการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้หารือกันจนได้ข้อสรุป และเสนอครม.พิจารณาแล้ว
รายละเอียดการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว
สำหรับรายละเอียดการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวครั้งนี้ กรมบัญชีกลาง ได้กำหนดอัตราใหม่ทั้งขั้นต่ำ และขั้นสูง ดังนี้
การปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูง
เป็นการปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว
เดิม : เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท
ใหม่ : เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท
การปรับเพดานเงินเดือนชั้นต่ำ
เป็นการปรับเพดานชั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว
- เดิม : เดือนละ 10,000 บาท
- ใหม่ : เดือนละ 11,000 บาท
การปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำ
- เดิม : จำนวน 10,000 บาท
- ใหม่ : จำนวน 11,000 บาท
กลุ่มเป้าหมายเพิ่มเงินการครองชีพชั่วคราว
สำหรับกลุ่มเป้าหมายการปรับเพดานเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวในครั้งนี้ จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย
- ข้าราชการ
- ลูกจ้างประจำ
- ทหารกองประจำการ
- ผู้รับบำนาญ
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบกลางต่อไป