สัญญาณอันตราย! กรมควบคุมโรค แนะผู้ปกครอง เด็กไทยสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” สูง 17.6% เข้มมาตรการเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าเห็นได้จากการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของบุหรี่ไฟฟ้าที่เลียนแบบของเล่นเด็ก ของใช้หรือของกินที่เด็กและเยาวชนนิยมหรือคุ้นเคย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่น และรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากทดลองและใช้บุหรี่ไฟฟ้า
ตลอดทั้งการสร้างการรับรู้ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อจากกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนมิให้ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าและไม่ยุ่งเกี่ยวหรืออยากทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมีสารพิษเสพติดและอันตราย
4 วิธี แนะผู้ปกครอง สังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน
ขอแนะนำผู้ปกครองเกี่ยวกับ 4 วิธีสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานที่อาจมีการใช้หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า ดังต่อไปนี้
- มีกลิ่นหอมติดตัวโดยหาต้นตอของกลิ่นไม่ได้
- ใช้เงินมากขึ้นกว่าปกติหรือซื้อของที่ไม่สามารถบอกได้ว่าคืออะไร
- พบผลิตภัณฑ์ หรืออุปกรณ์การเรียนที่ไม่คุ้นเคยในกระเป๋าหรือในห้องนอน เช่น ปากกา หรือแฟลชไดร์ฟ
- สังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงอาการกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย อารมณ์ฉุนเฉียวซึ่งเป็นผลมาจากการติดนิโคติน
นอกจากการสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานอย่างใกล้ชิดแล้ว ผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง พูดคุยแนะนำ หรือให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่บุตรหลานในครอบครัวเกี่ยวกับโทษพิษภัย อันตราย และผลกระทบของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นการสร้างเกราะป้องกันตนเองจากบุหรี่ไฟฟ้า
รวมทั้งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในครอบครัว ด้วยการไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อป้องกันสมาชิกในครอบครัวไม่ให้ได้รับไอหรือควันจากบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเพื่อการเป็นต้นแบบที่ดีแก่บุตรหลานด้วยการไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3850
ติดตามประกาศรับสมัครงานเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ PartTimeTH และ Facebook หางาน Part Time งานพิเศษ ทำที่บ้าน เสาร์ อาทิตย์