เครื่องหมายการค้า คืออะไร แตกต่างจากโลโก้ยังไง?
เครื่องหมายการค้า หรือ Trademark นั้น ก็คือ สิ่งที่ใช้แสดงถึงสินค้าหรือบริการของเรานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นชื่อ คำ วลี ตัวอักษร ตัวเลข ภาพวาด ภาพถ่าย หรือกราฟิกต่าง ๆ ที่เอามาออกแบบให้โดดเด่น ช่วยทำให้แบรนด์ของเรามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และเวลาลูกค้าเห็นของเรา ก็จะนึกถึงแบรนด์ได้ทันทีเลยล่ะ
ต่างจากโลโก้ตรงที่ โลโก้จะเป็นสัญลักษณ์หรือตราสินค้าหลักที่ใช้เป็นตัวแทนของแบรนด์ มักจะออกแบบให้เป็นกราฟิกที่ผสมผสานระหว่างตัวอักษร รูปภาพ และสัญลักษณ์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว เรามักเห็นโลโก้ตามผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ร้านค้า หรือแม้กระทั่งนามบัตร เพื่อช่วยสร้างการจดจำและภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์
ส่วนตราการค้า ถึงจะเป็นส่วนหนึ่งของโลโก้ได้ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของโลโก้นะคะ บางแบรนด์อาจจะมีแยกออกไปจากโลโก้เลยก็ได้ เพราะแม้จะมีโลโก้ที่สวยงามแล้ว แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะได้รับการคุ้มครองเสมอไป ดังนั้นการจดแยกจากโลโก้ ถือเป็นทางเลือกที่ช่วยปกป้องแบรนด์ของเราให้ดียิ่งขึ้น
ขั้นตอนการจดเครื่องหมายการค้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย
1. คิดชื่อ คำ หรือสัญลักษณ์ที่มีความโดดเด่น ไม่ซ้ำใคร เช่น ชื่อแบรนด์ที่เป็นคำประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ สโลแกนเก๋ ๆ หรือกราฟิกที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง หลีกเลี่ยงการใช้คำทั่ว ๆ ไปที่เกี่ยวข้องกับประเภทสินค้าโดยตรง เพราะทุกแบรนด์ในธุรกิจเดียวกันต่างก็ใช้ได้ เช่น ร้านข้าวแกง ก็ไม่ควรตั้งชื่อว่า “ข้าวแกง” เพราะเป็นการบอกประเภทอาหาร ไม่สามารถจดได้
2. ตรวจสอบความซ้ำซ้อน ก่อนยื่นจดควรเช็กก่อนว่าชื่อหรือสัญลักษณ์ที่เราจะใช้ เหมือนหรือคล้ายกับของคนอื่นหรือเปล่า คุณสามารถเข้าไปค้นหาได้จากฐานข้อมูล
3. เลือกประเภทสินค้าและบริการให้ตรง ตอนยื่นจดทะเบียน เราต้องระบุด้วยว่าจะเอาตราการค้าไปใช้กับสินค้าหรือบริการประเภทไหนบ้าง เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เป็นต้น ควรเลือกจดในประเภทที่ครอบคลุมสิ่งที่เราทำ เพื่อการคุ้มครองที่กว้างขวาง
4. ยื่นคำขอจดทะเบียน พร้อมแนบเอกสารหลักฐานตามที่กำหนด และชำระค่าธรรมเนียม เมื่อทุกอย่างถูกต้องครบถ้วน นายทะเบียนจะประกาศโฆษณาคำขอ เปิดให้มีการคัดค้านเป็นเวลา 60 วัน ถ้าไม่มีใครคัดค้าน ก็จะได้รับการจดทะเบียน
5. ได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน เมื่อผ่านขั้นตอนการจดทะเบียนทั้งหมดแล้ว เราก็จะได้รับหนังสือสำคัญที่เป็นเครื่องมือการันตีสิทธิในการค้าของเรา ซึ่งใช้ยืนยันกับบุคคลหรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้ว่าเราเป็นเจ้าของเครื่องหมายนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สิทธิพิเศษของการมีเครื่องหมายการค้า
เมื่อจดทะเบียนแล้ว เราจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทันทีนะคะ โดยการคุ้มครองนี้มีอายุ 10 ปี และสามารถต่ออายุได้คราวละ 10 ปีไปเรื่อย ๆ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (แต่ต้องยื่นต่ออายุก่อนวันหมดอายุล่วงหน้า 3 เดือนนะ) ในช่วงเวลาที่ได้รับความคุ้มครอง เจ้าของจะมีสิทธิหลาย ๆ อย่าง เช่น
- สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ตราการค้ากับสินค้าหรือบริการที่ระบุไว้ในการจดทะเบียน คนอื่นห้ามเอาไปใช้นะ
- สิทธิอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ตราการค้าของเราได้ เช่น การทำแฟรนไชส์ การออกลิขสิทธิ์ให้ใช้ชื่อและสัญลักษณ์
- สิทธิขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นมาจดทะเบียนตราการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเรา
- สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ที่ละเมิดตราการค้า ซึ่งมีโทษตั้งแต่ปรับ จนถึงจำคุกเลยนะ
นอกจากสิทธิทางกฎหมายแล้ว การมีตราการค้ายังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับแบรนด์มากขึ้นด้วย เพราะตราการค้าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงชื่อเสียง คุณภาพ มาตรฐานของสินค้าและบริการ เพิ่มความน่าเชื่อถือ และทำให้ผู้บริโภคจดจำเราท่ามกลางคู่แข่งมากมายนั่นเอง
วิธีรักษาให้คงอยู่ยาวนาน
เมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมดูแลและรักษาความคุ้มครองให้ได้นาน ๆ นะคะ วิธีก็ไม่ยากเลย แค่เพียง
1. ใช้ตราของเราอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากไม่ได้ใช้จริงเกิน 3 ปีติดต่อกัน อาจถูกคัดค้านให้เพิกถอนได้
2. ติดสัญลักษณ์ TM (กรณียังไม่ได้จดทะเบียน) หรือ ® (เมื่อจดทะเบียนแล้ว) กำกับไว้ที่ตรา เพื่อเป็นการประกาศและเตือนคนอื่นว่าเราได้รับความคุ้มครองแล้ว
3. ตรวจสอบและป้องกันไม่ให้ใครนำตราของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หากพบก็ควรดำเนินการตามกฎหมายทันที
4. รักษามาตรฐานและคุณภาพของสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับตราที่เราได้สื่อสารออกไป เพื่อความน่าเชื่อถือของแบรนด์ในระยะยาว
5. ต่ออายุตรากาค้าให้ตรงเวลา ก่อนวันหมดอายุอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อความต่อเนื่องในการรับความคุ้มครอง
สรุปท้ายบทความ
จะเห็นได้ว่า ตรานั้นไม่ได้มีบทบาทแค่เพียงเป็นตัวแทนของแบรนด์เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้อง และสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจของเราในระยะยาว ดังนั้น เพื่อน ๆ เจ้าของแบรนด์มือใหม่ทั้งหลาย อย่าลืมเก็บความรู้เรื่องตราการค้าที่เราได้แชร์ในวันนี้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กัน หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) หรือเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เลย เค้าพร้อมให้คำแนะนำดี ๆ แก่เราเสมอ สำหรับวันนี้ต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่บทความหน้ากับเรื่องราวดี ๆ ที่เป็นประโยชน์กับการทำธุรกิจของเพื่อน ๆ
โอกาสในการเปิดมุมมองใหม่กับ PartTimeTH จะพาคุณสำรวจอาชีพมหัศจรรย์ที่หลายคนอาจมองข้ามแล้วพบกันในบทความถัดไป ติดตามประกาศรับสมัครงานเพิ่มเติมได้ที่ Facebook หางาน Part Time งานพิเศษ ทำที่บ้าน เสาร์ อาทิตย์