มาทำความเข้าใจ “โรคนอนไม่หลับ” อาการหนักแบบไหนควรปรึกษาแพทย์
อาการนอนไม่หลับมีระดับต่างๆ ดังนี้
- นอนไม่หลับชั่วคราว : เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันหรือไม่คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมใหม่
- นอนไม่หลับระยะสั้น : มักเกิดขึ้นน้อยกว่า 3 เดือน สาเหตุมาจากความเครียดหรือการกินยาที่มีผลต่อการนอน
- นอนไม่หลับเรื้อรัง : ติดต่อกันมากกว่า 3 เดือนหรือเป็นปี ซึ่งอาจมาจากผลของยาที่ใช้รักษาโรคทางร่างกายหรือจิตใจ แต่สาเหตุที่พบมากที่สุดมาจากโรคทางจิตเวช
ชวนคุยกับ นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย แพทย์จิตเวชศาสตร์จากโรงพยาบาลสมิติเวช ถึงภาวะการนอนไม่หลับของคนไทย
ยิ่ง “เรื้อรัง” ยิ่งเสี่ยงป่วย “จิตเวช”
“อาการนอนไม่หลับเรื้อรัง” สวนใหญ่มักมาจาก “อาการทางจิตเวช” ใช่หรือไม่? เกี่ยวกับเรื่องนี้นพ.โยธิน อธิบายไว้ว่า อาการนี้มักมีต้นเหตุของโรคอยู่เบื้องหลัง อย่างเช่น
“โรคมะเร็ง เขาจะเจ็บปวดตลอดเวลา เวลานอน เขาก็จะเจ็บปวด มันก็นอนไม่ได้ คนสูงอายุบางคนที่เป็นโรคติดเชื้อ การกินยาบางอย่าง ก็จะทำให้มีผลต่อการนอน”
ถามว่าอาการทางจิตทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับเรื้อรังหรือไม่ คุณหมอบอกว่า “ครึ่งต่อครึ่ง” แต่ส่วนใหญ่คิดว่ามาจากโรคทางกายมากกว่า เช่น โรคชรา, โรคอ้วน
แต่ “อาการนอนไม่หลับ” หรือ “ขาดการนอนที่ดี” ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนเป็น “โรคทางจิตเวช” ได้ การจะดูว่าการนอนของเราดีหรือเปล่า ต้องดู 2 อย่าง คือ “ระยะเวลาการนอน”และ“คุณภาพในการนอน”
“ระยะการนอนหลับ” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน
“หนึ่ง เราดูที่ปริมาณว่า คนคนนั้นเป็นแบบไหน ถ้าเป็นคนที่ short sleeper เขานอน 6 ชั่วโมงก็อิ่มแล้ว แต่ถ้าเป็น long sleeper ต้องนอน 10 ชั่วโมง ระยะการนอนแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงถือว่าไม่พอ”
ที่สำคัญ ระยะเวลาการนอนอย่างเดียวไม่พอ เราต้องดูด้วยว่าหลับลึกไหม ผ่อนคลายหรือเปล่า ถ้านอน 8 ชั่วโมงแต่หลับๆ ตื่นๆ นั่นก็ถือว่าไม่ดี เพราะ “การนอนที่ไม่ดี” จะทำให้เกิดฮอร์โมนความเครียดออกมา และถ้าพุ่งสูงในระยะเวลานานติดต่อกัน จะทำให้เกิดโรคอย่างความดัน เบาหวาน และหลากโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกมากมาย
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ เสี่ยงโรคจิตเวช!!
“มันมีโอกาสที่ถ้านอนไม่หลับนานๆ จะส่งผลต่อเซลล์สมองบางจุด ทำให้มันเหี่ยวลง ในบางคนแค่ไม่กี่สัปดาห์ก็อาจเกิดความรู้สึกหดหู่ได้ และมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง”
ตัวแปรสำคัญคือ “ถ้าตัวคนไข้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวชอยู่แล้ว หรือคนปกติที่เจอความเครียดตลอดเวลา บวกกับอาการนอนไม่หลับเรื้อรังเข้าไป โอกาสที่จะเป็นโรคทางจิตเวชก็จะเสี่ยงมากขึ้น”
“มีหลายงานวิจัยที่บอกว่า คนปกติ ถ้าป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับนานๆ มีโอกาสจะป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้ ไม่ว่าจะเป็นวิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า หรือว่าถึงขั้นเป็นโรคจิตได้”
วิธีสังเกตตัวเอง “โรคนอนไม่หลับ” กระทบต่อการใช้ชีวิตแค่ไหน?
การสังเกตตัวเองว่ามีปัญหาจากอาการนอนไม่หลับนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราสามารถใช้ข้อวิเคราะห์ต่อไปนี้เพื่อประเมิน
- ผลกระทบทางกายและจิตใจ : ตรวจสอบว่าการนอนไม่หลับมีผลกระทบอย่างไรต่อร่างกายและสุขภาพจิตของคุณ เช่น ความเหนื่อยล้าในวันต่อมา, อารมณ์ที่แปรปรวน, หรือความลำบากในการควบคุมอารมณ์
- ปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน : ตรวจสอบว่าการนอนไม่หลับมีผลต่อการทำงานหรือกิจกรรมประจำวันของคุณอย่างไร เช่น ความล่าช้าในการทำงาน, การทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ, หรือความยากลำบากในการตัดสินใจ
- สูญเสียความสามารถในการทำงาน : ตรวจสอบว่าการนอนไม่หลับมีผลต่อสมรรถภาพในการทำงานหรือการปฏิบัติงานของคุณอย่างไร เช่น ความผิดพลาดในการทำงาน, การตัดสินใจที่ไม่สม่ำเสมอ, หรือความไม่มั่นคงในการดำเนินงาน