“อาชีพทันตแพทย์” คือใคร?
อาชีพทันตแพทย์ เป็นอาชีพที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพในช่องปากทุกอย่างตั้งแต่ฟัน กระพุ้งแก้ม เพดานปาก เหงือก ฯลฯ ด้วยการตรวจวินิจฉัย ป้องกันไปจนถึงการรักษาความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่องปากทั้งหมด เพื่อให้ช่องปากของคนไข้กลับมาทำงานได้ตามปกติและมีประสิทธิภาพ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘หมอฟัน’ ซึ่งหมอฟันทุกคนจะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมก่อนที่จะประกอบวิชาชีพหรือเปิดคลินิกส่วนตัวได้ โดยหมอฟันหนึ่งคนจะสามารถทำงานที่โรงพยาบาลและคลินิกด้วยได้ มีทั้งหมด 12 สาขาด้วยกัน แบ่งตามความถนัดเฉพาะทาง ได้แก่
- สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล
- สาขาปริทันตวิทยา
- สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก
- สาขาทันตกรรมจัดฟัน
- สาขาทันตกรรมประดิษฐ์
- สาขาทันตสาธารณสุข
- สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์
- สาขาทันตกรรมหัตถการ
- สาขาวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก
- สาขาทันตกรรมทั่วไป
- สาขาทันตกรรมบดเคี้ยวและความเจ็บปวดช่องปากใบหน้า
- สาขานิติทันตวิทยา
หน้าที่และความรับผิดชอบของทันตแพทย์
ทันตแพทย์เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย หน้าที่และความรับผิดชอบหลักๆ ของทันตแพทย์ประกอบด้วย
- ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคในช่องปาก : ทันตแพทย์จะทำการตรวจสอบสภาพช่องปาก ฟัน เหงือก และลิ้นของผู้ป่วย เพื่อหาสาเหตุของปัญหาสุขภาพและทำการรักษาตามอาการที่พบ เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ หรือปัญหาการเรียงตัวของฟัน
- ป้องกันโรคในช่องปาก : การให้คำแนะนำในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง เช่น วิธีการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน และการรับประทานอาหารที่เหมาะสมเพื่อป้องกันฟันผุและโรคเหงือก
- ทำหัตถการทางทันตกรรม : การทำหัตถการต่างๆ เช่น การอุดฟัน การถอนฟัน การรักษารากฟัน การใส่ฟันปลอม การครอบฟัน และการทำรากเทียม
- รักษาความสะอาดและสุขอนามัยของคลินิก : การรักษาสภาพแวดล้อมในคลินิกให้สะอาดและปลอดภัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์
- ให้คำปรึกษาและแนะแนวทางการรักษา : การให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพช่องปากและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม พร้อมทั้งตอบคำถามและให้ข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจรักษา
- ร่วมงานกับทีมทันตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ : การทำงานร่วมกับทีมทันตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพและผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างครบวงจร
- พัฒนาความรู้และทักษะทางทันตกรรม : การติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านทันตกรรม และการเข้าร่วมการอบรมหรือสัมมนาเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้เพิ่มเติม
ทันตแพทย์มีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของผู้ป่วย การทำหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างรอบคอบและเอาใจใส่ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพช่องปากที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตของทันตแพทย์
ทันตแพทย์ต้องทำงานใช้ทุนการศึกษาให้กับรัฐบาลในสายงานที่เรียนมา โดยวิธีการจับฉลากว่าจะได้ไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐ สถานพยาบาล ศูนย์อนามัยต่าง ๆ ที่อยู่ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 ปี เมื่อใช้ทุนจนครบหมดแล้ว ค่อยจะสามารถเลือกเส้นทางอาชีพต่อไปได้หลากหลายดังนี้
- เลื่อนตำแหน่ง : สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานในโรงพยาบาลต่อไป ก็จะมีโอกาสเติบโตด้วยการเลื่อนตำแหน่งตามระเบียบของทางราชการ ซึ่งการเลื่อนตำแหน่งนี้จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความรู้ และความสามารถของทันตแพทย์แต่ละคน
- เรียนต่อเฉพาะทาง : ทันตแพทย์บางคนอาจจะไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ปริญญาเอกในสาขาเฉพาะทางที่ตัวเองสนใจ เช่น ทันตกรรมจัดฟัน ทันตกรรมรากเทียม ทันตกรรมเด็ก และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับทันตกรรม
- เปิดคลินิกของตัวเอง : บางคนอาจจะลงทุนเปิดคลินิกทำฟันเป็นของตัวเองหลังใช้ทุนจบ การเปิดคลินิกของตัวเองนั้นจะต้องมีการวางแผนธุรกิจ การจัดการ และการตลาด เพื่อให้คลินิกเติบโตและมีลูกค้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
การเติบโตในสายงานของทันตแพทย์นั้นมีหลายเส้นทางให้เลือก แต่ละเส้นทางจะมีความท้าทายและโอกาสที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสนใจและเป้าหมายของทันตแพทย์แต่ละคน
รายได้ของทันตแพทย์
ทันตแพทย์จะมีรายได้อยู่หลายช่องทางรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 80,000 บาทหรือมากกว่าเมื่อเรียนต่อเฉพาะทางแบ่งได้ดังนี้
- ฐานเงินเดือน ประมาณ 18,000 บาท ในโรงพยาบาลรัฐ
- ค่าใบประกอบวิชาชีพ 5,000 บาท ทุกคนที่มีใบประกอบวิชาชีพจะได้รับ
- ค่าเบี้ยเลี้ยงในถิ่นทุรกันดาร เริ่มที่ 10,000 – 20,000 บาท หากประจำในพื้นที่ที่ทุรกันดารมากแค่ไหนก็จะได้มาก
- ค่าไม่ทำเวชปฏิบัติ 10,000 บาท สำหรับหมอฟันที่ไม่ทำคลินิกเอกชนระหว่างที่ใช้ทุน แต่ถ้าหมอทำคลินิกก็จะไม่ได้ส่วนนี้
- ค่าโอที เริ่มที่ 500 บาท/วัน แล้วแต่โรงพยาบาลโดยจะต้องอยู่เวรจนถึง 20.00 น. อาจจะอาทิตย์ละครั้งแล้วแต่โรงพยาบาลจะจัดเวรให้
- ค่าตอบแทนหากทำคลินิก คิดเป็น 50% ของการรักษา
*ยอดรายได้ต่าง ๆ เป็นการประมาณการ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามระบบโครงสร้างแต่ละองค์กร
ข้อดีของการเป็นทันตแพทย์
- ทำงานเป็นเวลา มีเวลาเข้า-ออกงานที่แน่นอนทำให้ทำงานเป็นเวลา สามารถไปทำกิจกรรมอื่นได้ มีเวลาให้คนรักและครอบครัว เพื่อนฝูง มีเวลาไปเที่ยว พักผ่อน ออกทริปสั้น ๆ ได้เรื่อย ๆ
- ถือเป็นงานที่มั่นคง เมื่อเรียนจบแล้วไม่ตกงานแน่นอน เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นอาชีพที่ต้องรักษา ดูแลคนไปตลอดชีวิตเพราะช่องปากของคนเราย่อมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
- ได้ค่าตอบแทนดี เนื่องจากมีค่าตอบแทนจากหลายช่องทางและสามารถไปทำคลินิกได้อีก
- เปิดคลินิกส่วนตัวได้ ทันตแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพสามารถที่จะเปิดคลินิกของตัวเองได้เลย
- มีเวลาพักผ่อนเยอะ เนื่องจากทำงานเป็นเคสและจบเป็นวัน ทำให้มีเวลาพักผ่อน ไม่เครียดสะสม เพราะเป็นงานที่จบในที่ทำงาน พรุ่งนี้ก็เริ่มเคสใหม่ ๆ
- ถือเป็นอาชีพที่ได้ใช้ฝีมือ แต่ละครั้งที่อุดฟันได้สวย ปั้นฟันได้ดีก็จะทำให้ภูมิใจในผลงาน
- ได้ช่วยเหลือคน เพราะเป็นงานทำให้คนไข้หายเจ็บได้ทันทีเป็นที่พึ่งให้คนไข้ยามเจ็บป่วยได้ บางคนอาจจะคิดว่าเป็นอาชีพที่ได้ทำบุญกับคนอีกด้วย
เส้นทางสู่อาชีพทันตแพทย์
หากน้อง ๆ คนไหนสนใจอยากที่จะทำอาชีพทันตแพทย์จะต้องเรียนมาทางสายสามัญ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหากจบจากสายวิทย์คณิตจะยิ่งได้เปรียบ ต้องเป็นคนขยัน ทำเกรดเฉลี่ยได้้ดี ชอบที่จะเรียนรู้และมีหัวด้านการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ฯลฯ เพราะต้องใช้ในการสอบเข้าคณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งเปิดสอนในหลายมหาวิทยาลัยฯ ดังนี้
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (หลักสูตรนานาชาติ)